ส่องหุ้นบัตรเครดิตกำไรฟื้น มาตรการรัฐปลุกจับจ่าย “KTC-อิออน” โตฝ่าปัจจัยลบ

เศรษฐกิจ (ในประเทศ - ต่างประเทศ)

ส่องแนวโน้มหุ้นบัตรเครดิตปีเสือ “บล.เคทีบีเอสที” ประเมิน “เคทีซี-อิออน” กำไรโต-ค่าธรรมเนียมฟื้น ลุ้นโควิดรอบใหม่ไม่หนัก-มาตรการรัฐปลุกจับจ่าย จับตา “อีมันนี่” เป็นปัจจัยลบ-คู่แข่งสำคัญในอนาคต ขณะที่ “บล.ยูโอบี เคย์เฮียน” ชี้ยังมีปัจจัยท้าทายทั้งการเดินทางไม่เป็นปกติ-กินข้าวนอกบ้านน้อย หวั่นยอดติดเชื้อ “โอมิครอน” ทะยานฉุดการใช้จ่าย ฟากซีอีโอ “เคทีซี” มั่นใจทำกำไรนิวไฮต่อเนื่อง-มาร์เก็ตแชร์โตสุดรอบ 10 ปี

นายมงคล พ่วงเภตรา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เคทีบีเอสที จำกัด (มหาชน) หรือ KTBST เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปี 2565 นี้แนวโน้มธุรกิจบัตรเครดิตน่าจะฟื้นตัวขึ้น โดยคาดว่าการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนจะจบลงในช่วงครึ่งปีแรก แต่ทั้งนี้จะขึ้นอยู่กับมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายภาครัฐด้วย เพราะมีผลกับการใช้จ่ายบัตรเครดิตโดยตรง

ทั้งนี้ บริษัทคาดการณ์กำไรของบมจ.บัตรกรุงไทย (KTC) ที่ 6,500 ล้านบาท เติบโต 13% ต่อปี ส่วน บมจ.อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) (AEONTS) คาดการณ์กำไรปีบัญชี 2565 (1 มี.ค. 2564-28 ก.พ. 2565) จะอยู่ที่ 3,900 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15% ต่อปี และปีบัญชี 2566 (1 มี.ค. 2565-28 ก.พ. 2566) จะมีกำไร 4,310 ล้านบาท เติบโต 19%

“กำไรไตรมาส 4/2564 ของ KTC คาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ 1,200 ล้านบาท ลดลง 11% จากไตรมาส 3/2564 และลดลง 12% จากช่วงเดียวกันปีก่อน เหตุผลหลักจากที่มีการตั้งสำรองหนี้สูญเพิ่มขึ้น และมีค่าใช้จ่ายรายการพิเศษกรณีซื้อหุ้นกรุงไทยลีสซิ่ง”

สำหรับปีนี้คาดว่าค่าธรรมเนียมสุทธิของ KTC จะอยู่ที่ 10,339 ล้านบาท ติดลบลดลงเหลือ 3% จากปีที่แล้วติดลบ 9% แต่ในแง่รายได้ดอกเบี้ยสุทธิมีทิศทางสูงขึ้นอยู่ที่ 10,847 ล้านบาท เติบโต 17% จากแนวโน้มผู้ถือบัตรต้องการผ่อนจ่ายมากกว่าการรูดเต็มและจากสินเชื่อธุรกิจใหม่

โดยประเมินยอดใช้จ่ายผ่านบัตรจะกลับมาโต 10% ทิศทางสินเชื่อจะกลับมาขยายตัวบวก 7% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อนโดยมาจากสินเชื่อจำนำทะเบียน (พี่เบิ้ม) 1,500 ล้านบาท และเช่าซื้อ (กรุงไทยลีสซิ่ง) ประมาณ 1,000 ล้านบาท ส่วนการตั้งสำรองคาดว่าอยู่ที่ 5,200 ล้านบาท ลดลง 2%

ส่วนค่าธรรมเนียมสุทธิของ AEONTS ปีบัญชี 2565 จะอยู่ที่ 2,661 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9% และปีบัญชี 2566 อยู่ที่ 2,905 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.16% โดยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิปีบัญชี 2565 จะอยู่ที่ 16,289 ล้านบาท ลดลง 1.24% และปีบัญชี 2566 อยู่ที่ 16,893 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.7% ขณะที่การตั้งสำรอง 6.1 พันล้านบาท และ 5.7 พันล้านบาท

“ภาพรวมอุตสาหกรรมปีนี้น่าจะฟื้นตัวได้เพราะสถานการณ์ควรจะดีขึ้น โดยตัวแปรสำคัญคือ โอมิครอน จะระบาดรุนแรงแค่ไหน และมาตรการกระตุ้นภาครัฐเองด้วย ส่วนการเข้ามาของธุรกิจจ่ายเงินออนไลน์อย่างอีมันนี่ (e-Money) ค่อนข้างเป็นลบต่อธุรกิจบัตรเครดิต เพราะทำให้คนใช้จ่ายผ่านบัตรน้อยลงได้ และในอนาคตอาจมีผลต่อปริมาณการใช้บัตรเครดิตด้วย”

นายธนเดช รังษีธนานนท์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากการระบาดของโควิด-19 ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ทิศทางการใช้จ่ายบัตรเครดิตไม่โต ทำให้เป็นข้อจำกัดของหุ้นในกลุ่มบัตรเครดิต ซึ่งจะเห็นชัดเจนอย่าง KTC ที่หนีไปทำธุรกิจเช่าซื้อ จำนำทะเบียน ส่วน AEONTS ก็ไม่ต่างกันมาก

ทั้งนี้ หากสถานการณ์โดยรวมฟื้นตัวช่วงไตรมาส 2/2565 หรือครึ่งปีหลัง คงเห็นการใช้จ่ายบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล (พีโลน) ที่มากขึ้น

โดยปกติธุรกิจบัตรเครดิตจะสะวิงขึ้นลงตามการใช้จ่าย ซึ่งส่วนใหญ่ใช้จ่ายผ่านการเดินทาง รับประทานอาหาร และซื้อขายออนไลน์ แต่จากผลกระทบโควิดทำให้การใช้ชีวิตแบบปกติหายไป ไม่มีการรับประทานอาหารหรือปาร์ตี้ ทำให้การรวมตัวน้อย เช่นเดียวกันกับการเดินทาง ยอดการรูดบัตรซื้อตั๋วเครื่องบินน้อยลงมาก เพราะเดินทางไม่ได้ ดังนั้น การใช้จ่ายผ่านบัตร ตอนนี้ถูกจำกัดอยู่แค่การซื้อขายออนไลน์ซึ่งไม่สามารถทดแทนกันได้

“แนวโน้มในปี 2565 ยังมีข้อจำกัด คือ 1.เรายังเดินทางไม่เป็นปกติ 2.คนออกไปรับประทานอาหารนอกบ้านน้อยลง ฉะนั้น มีความท้าทายอยู่มากด้วยการจำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ แต่ภาคธุรกิจคงจะได้รับประโยชน์จากมาตรการรัฐผ่านโครงการช้อปดีมีคืนอยู่บ้าง แต่ก็มีความกังวลเหมือนกันว่า จากภาวะเศรษฐกิจยังไม่ดีนัก ยอดผู้ติดเชื้อโอมิครอนที่วิ่งไต่ขึ้นไปเรื่อย ๆอาจทำให้ผู้เสียภาษีไม่จับจ่ายใช้สอยในช่วงนี้ และภาครัฐอาจประกาศควบคุม ล่าสุดห้ามดื่มสุรา ซึ่งมีผลต่อธุรกิจบัตรเครดิตมาก เพราะอย่าลืมว่างานเลี้ยงจ่ายค่าดื่มสุราเยอะ หากกิจกรรมทางเศรษฐกิจยังไม่ฟื้น ก็อาจจะยังลำบากที่เห็นการเติบโตของธุรกิจบัตรเครดิต ถ้าจะโตคงเป็นช่วงครึ่งปีหลังของปี 2565 ไปแล้ว”

นายระเฑียร ศรีมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร KTC กล่าวว่า ตั้งเป้าว่าในปี 2565 KTC จะสามารถทำกำไรปี 2565 เป็นสถิติสูงสุดใหม่ (new high) ได้ แต่คงไม่โตร้อนแรงเหมือนปีก่อน ๆ เพราะส่วนหนึ่งต้องนำเงินไปลงทุนขยายแพลตฟอร์มใหม่ ขยายฐานลูกค้าและเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาด (มาร์เก็ตแชร์) เพื่อสร้างการเติบโตแบบก้าวกระโดด แต่ยืนยันว่าบริษัทจะยังจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นในอัตราที่เพิ่มขึ้นตามกำไรของบริษัทที่เพิ่มขึ้นแน่นอน

โดย 3 ธุรกิจหลักที่ KTC จะมุ่งเน้น คือ 1.สินเชื่อจำนำทะเบียน “เคทีซี พี่เบิ้ม” ที่ได้ปรับเป้าสินเชื่อใหม่เป็น 11,500 ล้านบาท จากเดิม 2,200 ล้านบาท 2.ธุรกิจบัตรเครดิต ซึ่งเชื่อว่าปีนี้จะเป็นปีทองแห่งการเปลี่ยนแปลง

ไม่ว่าจะเกิดโอมิครอนหรือมีโควิดสายพันธุ์ใหม่ ๆ เกิดขึ้นอีกก็ตาม ซึ่ง KTC ตั้งเป้ายอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต (spending) อยู่ที่ 220,000 ล้านบาท เติบโต 10% ต่อปี และเพิ่มบัตรใหม่ไม่ต่ำกว่า 250,000 ราย และ 3.แพลตฟอร์ม MAAI BY KTC ธุรกิจที่จะสร้าง new S-curve และมีรายได้เติบโตอย่างยั่งยืน

“มาร์เก็ตแชร์ของธุรกิจบัตรเครดิตในปีนี้ นอกจากจะทำบันทึกสูงสุดใหม่แล้ว (record high) จะโตอย่างที่ไม่เคยโตมาก่อนในรอบ 10 ปี” นายระเฑียรกล่าว

อ้างอิง
https://www.prachachat.net/finance